Hot Topic!

ม.ราชภัฏให้ 3 รมว.ศธ.สอบตก ซัดบริหาร

โดย ACT โพสเมื่อ May 25,2017

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวถึงผลงาน 3 ปี ของ 3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนักวิชาการส่วนใหญ่ประเมินให้ตกและคาบเส้น ว่า ศธ.เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด ใช้รัฐมนตรีมากที่สุด ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มากที่สุด แต่ผลงานสอบตก 3 ปี คสช.ใช้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. 3 คน ไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทิศทางการบริหารโดยภาพรวมเป็นการวางระบบบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ ผลงานการบริหารเข้าลักษณะปะผุ หรือแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไปมากกว่ามาวางหรือสร้างระบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

นายอดิศรกล่าวต่อว่า ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน คสช.มีผลงานด้านการปฏิรูปโครงสร้างโดยอาศัยมาตรา 44  ที่โดดเด่นคือการปฏิรูปส่วนภูมิภาค ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ถือว่าสอบตกเพราะเพิ่มเวลาเรียนมากกว่า การคัดเลือกครูมีความพยายามที่จะหาทางเลือกใหม่ เช่น ครูพัฒนาท้องถิ่น หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีวุฒิครูสอบบรรจุครูได้ ซึ่งไปสร้างปัญหาอื่นตามมา การพัฒนาครูมีระบบคูปอง แต่ระบบที่รองรับยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น หลักสูตรที่รองรับการอบรม ทำแบบรีบเร่งเพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เท่านั้น ที่น่าชื่นชมคือการพัฒนาระบบวิทยฐานะใหม่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะตอบโจทย์ได้หรือไม่ โดยสรุปผลงานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังไปไม่ถึงผู้เรียน การที่ คสช.ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 มาวางระบบออกแบบการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ จะสร้างปัญหาในอนาคตมากกว่าเดิม ซึ่งน่าเป็นห่วง

นายอดิศรกล่าวต่อว่า ด้านอาชีวศึกษา รัฐบาลให้น้ำหนักการเรียนอาชีวศึกษาไว้สูงมาก ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ภายในยุค คสช. สิ่งที่ควรทำคือ สร้างระบบสหกิจร่วมกับสถานประกอบการให้มากขึ้น รวมถึงสร้างแรงจูงใจ ค่านิยมให้คนเรียนอาชีวะ ส่วนการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาในปัจจุบัน ถือว่าสอบตก ผู้บริหารระดับสูงใน ศธ.มาจาก กศน.หลายคนแต่กลับไม่มีผลงานโดดเด่น ด้านการศึกษาเอกชน ยังไม่เห็นผลงานชัดเจน มีเพียงการรวมอาชีวะเอกชนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ถือว่าอยู่ถูกที่ถูกทาง แต่ยังไม่ปรากฏผลงาน ส่วนด้านอุดมศึกษา มีผลงานเป็นรูปธรรมเฉพาะการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปบริหารจัดการมหาวิทยาลัยบางแห่ง ทำได้แค่ระงับยับยั้งปัญหาชั่วคราว ระยะยาวยังแก้ไม่ได้ มีปัญหาคุณภาพมหาวิทยาลัย ปัญหาธรรมาภิบาล ฯลฯ ยังไม่เห็นการวางระบบแก้ไขปัญหา ภาพรวมถ้าคิดเป็นคะแนน ให้ 5 คะแนนคาบเส้น ให้คะแนนจิตพิสัยความตั้งใจทำงาน แต่ถ้ามองเฉพาะผลงานจริงๆ สอบตก

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า หนึ่งในเหตุผลหลักในการคงอยู่ของรัฐบาลและคสช.หลังการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือเพื่อการปฏิรูปประเทศใน 11 ด้าน ซึ่งการศึกษาเป็นหนึ่งในนั้น แต่วันนี้ผ่านไป 3 ปีกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. 3 คน ผลงานการปฏิรูปการศึกษาแทบไม่เห็นเป็นรูปธรรม เริ่มจากคนแรก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย จากที่เป็นทหารและเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคนแรก แทบไม่มีผลงานเด่นชัด แม้จะนำเสนอนโยบายหลายอย่างทั้งการเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน การส่งเสริมให้คนเรียนอาชีวะ การผลิตและพัฒนาครู ฯลฯ แต่ยังไม่ปรากฏผลงาน คนต่อมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นทหารที่ใช้การบริหารแบบคำสั่งเดียว (Single command) นโยบายที่ฮือฮามากคือ ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ซึ่งตอนแรกเกิดความโกลาหล มีคนวิจารณ์จนต้องเปลี่ยนชื่อและออกมาชี้แจงแนวปฏิบัติกันยกใหญ่ แม้ตัวเลขผลการประเมินออกมาดี แต่จากการสอบถามครูผู้ปฏิบัติกลับสวนทาง มีการใช้มาตรา 44 ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาขั้นพื้นฐานขนานใหญ่ แต่ต้องใช้มาตรา 44 แก้ไขตามมาอีกหลายครั้ง การใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาธรรมาภิบาล แต่กลับไปมอบอำนาจให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ซึ่ง กกอ.แทบทั้งหมดมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะนั่งเป็นนายกสภาและกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ กลายเป็นทั้งผู้เล่นและผู้ตัดสินในเวลาเดียวกัน ผ่านไปเกือบปี ทั้ง 4 สถาบันที่โดนมาตรา 44 ยังไม่คืบ แต่กลับถูกร้องเรียนเรื่องการแต่งตั้งพวกพ้องเข้าไปรับตำแหน่งและค่าตอบแทนหลักแสนทั้งที่หลายคนมีตำแหน่งและงานประจำอยู่แล้ว

นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า ส่วน นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนปัจจุบัน ที่เคยประกาศวันรับตำแหน่งว่าจะเป็นรัฐมนตรีที่โปร่งใสที่สุดในประวัติศาสตร์ ความเป็นหมอเลยสร้างผลงานด้วยโรงเรียน ICU อาชีวะ ICU ที่จำแนกสถานศึกษาคล้ายอาการป่วยที่ต้องรีบรักษา การแก้ปัญหาคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และผลทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ต่ำที่ต้องรักษาโดยใช้ติวเตอร์ การเปิดให้คนที่ไม่มีวุฒิครูสามารถสอบครูผู้ช่วยได้ และล่าสุดขอใช้มาตรา 44 ตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติ ทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ว่าจะให้เขามาเปิดสาขาอะไร มีใครจะมาเปิดบ้าง

"3 ปีของ 3 รัฐมนตรี คสช. ยังสอบไม่ผ่าน เห็นได้จากการแก้ไขปัญหายังวนเวียนอยู่กับที่ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ นอกจากใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว แถมบางเรื่องอาจสร้างปัญหาระยะยาว ส่วนผลประเมินด้านความรู้ของผู้เรียน ไทยยังอยู่อันดับท้ายๆ ด้านคุณธรรม ผลประเมินพฤติกรรมผู้เรียนจากหลายสำนัก พบว่าแย่ลง นอกจากนี้มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะอุดมศึกษาที่เรียกว่าปัญหาธรรมาภิบาล เรียกว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาเกาไม่ถูกที่คันถึงเวลาหรือยังที่ควรกำหนดคุณสมบัติ บทบาทหน้าที่ของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ." นายรัฐกรณ์กล่าว

- -สำนักข่าว มติชน วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 - -